วันนี้จะเอาประสบการณ์การลดหย่อนภาษีที่เยอรมัน จากที่เราส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เมืองไทยมาแชร์ให้ทุกคนอ่านกันค่ะ เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับใครๆหลายคนเลยทีเดียว
การลดหย่อนภาษีหลายคนคงรู้อยู่แล้วว่ามันคืออะไร เพราะความหมายก็ตามตัวอยู่แล้วเนาะ แล้วใครจะรู้ว่าการที่เราเลี้ยงดูพ่อแม่ โดยการโอนเงินจากเยอรมันไปให้ทุกๆเดือน เราสามารถเอาจำนวนเงินที่เราโอนไปนั้นมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และประโยชน์สำหรับพวกเรามากเลยค่ะ แถมเอกสารก็ไม่ยุ่งยากด้วย
เราสามารถทำเรื่องลดหย่อนภาษีได้หลายกรณีนะคะ ไม่ใช่แค่จากการเลี้ยงดูพ่อแม่เท่านั้น แต่นอกจากนั้น เรายังสามรถลดหย่อนภาษีได้จากการที่เราส่งเสียให้ลูกที่เมืองไทย คู่สมรส หรือ ตายายที่อยู่เมืองไทยก็ได้ด้วยค่ะ
เอกสารที่ต้องใช้
ในกรณีการขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา (จากประสบการณ์ของเราเองนะคะ)
1 กรอกแบบฟอร์ม (เรากรอกทั้งภาษาไทยและภาษาเยอรมันในฟอร์มเดียวกันเลยค่ะ)
(แบบฟอร์มชื่อว่า Unterhalterklärung für das Kalendar 20__)
คลิ๊กตรงนี้เพื่อดาวน์โหลดฟอร์ม
เราต้องให้พ่อแม่กรอกแบบฟอร์ม (หรือเราจะกรอกให้ก็ได้และให้พ่อแม่แค่เซ็นอย่างเดียวแบบนี้ก็ได้ค่ะ) จากนั้นก็ให้อำเภอประทับตรารับรองว่ามีตัวตนอยู่ในบ้านเลขที่นี้จริง แล้วเซ็น หรืออาจจะเป็นปลัดอำเภอ หรือ นายก อ.บ.ต ก็ได้ค่ะ ในกรณีเรา พี่สาวเอาไปให้นายก อ.บ.ต เซ็นให้ค่ะ ก็ไม่ปัญหาอะไรค่ะ
อ้อ ลืมบอกไปว่า เราทำแยกกันพ่อกับแม่นะคะ คือพ่อก็กรอกฟอร์มหนึ่ง แม่ก็กรอกอีกฟอร์มหนึ่ง เพราะเราต้องการเงินลดหย่อนของทั้งคู่ค่ะ
2 หลักฐานการโอนเงินและรับเงิน ของต้นทางและปลายทางค่ะ
กรณีเรา เราได้โอนเงินให้พ่อแม่ทุกเดือน โดยโอนทาง Transferwise ซึ่งเป็นแอปโอนเงินที่เราใช้ประจำ ตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Wise แล้ว แต่เป็นแอปตัวเดียวกันนะคะ (แอปนี้ได้เรตดี เร็ว และ เชื่อถือได้ค่ะ แนะนำเลย) เราก็ไปปริ๊นรายการที่เราเคยโอนเงินเข้าบัญชีของพ่อและแม่มาประกอบเพื่อเป็นหลักฐานว่า เราได้โอนเงินไปให้พ่อแม่ของเราจริงๆค่ะ
****สำคัญสุดควรมี ชื่อผู้โอนคือชื่อเรา และชื่อผู้รับ คือพ่อแม่ แบบชัดเจนนะคะ
3 หนังสือรับรองของพ่อกับแม่ได้รับเงินคนชราจริงๆ
พี่สาวเราไปขอใบนี้ที่ว่าการอำเภอค่ะ เพื่อยืนยันว่าทั้งพ่อและแม่ได้เงินคนชราจริงๆ จากนั้นก็เอามาแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วยค่ะ
4. เอกสารแสดงความสัมพันธ์
- ทะเบียนสมรสของพ่อแม่เรา (พ่อปัจจุบันเป็นพ่อเลี้ยงค่ะ ก็เอามาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันค่ะ) เอาไปแปลเป็นเยอรมัน
- ใบคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อเราอยู่ แปลเป็นเยอรมัน
***เราเอาเอกสารที่ต้องแปล ไปแปลที่ สถาบันเกอเธ่ค่ะ ใบละ 1,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์
พอได้เอกสารทุกอย่างครบแล้ว ก็ส่งมาเยอรมันเลยค่ะ ส่วนเราก็ฝากหลานมา เนื่องจากหลานมาเยอรมันปีละ 2-3 ครั้งอยู่แล้ว พอเราได้เอกสารแล้วเราก็ให้สามีเอาไปทำเรื่องลดหย่อนภาษีประจำปีของปีนั้นๆค่ะ (นี่คือเราทำลดหย่อนภาษีให้สามีนะคะ เพราะเค้าจ่าย Einkommensteuer เยอะมากๆต่อปี)
….เห็นไหมค่ะ แค่นี้เอง เอกสารไม่เยอะเลย นี่คือข้อดีของคนที่ต้องเสียภาษีเยอะต่อปี (จาก Einkommensteuer) เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ทุกปี แต่ข้อเสียก็คือ มีข้อจำกัดจำนวนเงินนะคะว่าเราขอลดหย่อนภาษีได้มากที่สุดต่อปีเท่าไหร่ อย่างเช่น ของพ่อแม่จะได้ประมาณ ไม่เกิน 4.500 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งแสดงว่าเราสามารถลดหย่อนภาษี พ่อ+แม่ รวมสองคนแล้ว ได้ถึง 9.000 ยูโรต่อปีเลยค่ะ (อันนี้ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนนะคะ แค่ยกตัวอย่างให้ดูนะ)
นอกเหนือจากนั้น เรายังสามารถขอลดหย่อนภาษีได้อีกหลายกรณี เช่น
ขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรที่ไทย เอกสารเหมือนข้างบน แต่อาจมีเพิ่มเติมเช่น สูติบัตรของลูก
ขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูคู่สมรสที่ไทย เอกสารที่ต้องเพิ่มเช่น ทะเบียนสมรส
ขอลดหย่อนค่าเลี้ยงดูปู่ย่า ตายาย เอกสารคล้ายกันกับการขอลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูพ่อแม่เลยค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แน่ใจว่าใครมีพ่อแม่ที่ไทยมีรายได้เยอะจะทำได้ไหมนะ แต่กรณีเรา พ่อแม่ที่เราเลี้ยงดูนี้เป็นแค่ชาวไร่ ชาวนา ไม่มีรายได้เยอะพอที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ แถมเงินผู้สูงอายุก็ได้แค่เดือนละ 600-700 บาทเองค่ะ
ช่วงยื่นครั้งแรก เอกสารอาจจะเยอะหน่อย แต่ครั้งต่อมาเอกสารก็ลดลงค่ะ เพราะเค้ามีข้อมูลของเราหมดแล้วนั่นเอง ปีต่อๆมาเราก็เตรียมแค่ 2 อย่าง คือ กรอกแบบฟอร์ม และหลักฐานการโอนเงินของเราที่ส่งให้พอกับแม่ แค่นั้นเองค่ะ นี่คือประสบการณ์ที่ทำมานะคะ ไม่รู้ว่าเขตอื่นในเยอรมันจะเหมือนกันไหม เพื่อความแน่ใจก็สอบถามทางสรรพากร (Finanzamt) หรือที่ปรึกษาภาษี (Steuerberater) ได้ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง แต่คิดว่าไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่ หวังว่าโพสนี้คงประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ทำไมต้องทำ Aufenthaltstitel ใหม่ทั้งที่เป็น Unbefristet แล้ว?