อย่าปล่อยให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของคุณเสียเปล่า! ถ้าคุณส่งเงินให้พ่อแม่ที่ไทย อาจมีสิทธิ์ลดหย่อนได้มากกว่าที่คิดค่ะ
วันนี้จะเอาประสบการณ์การลดหย่อนภาษีที่เยอรมัน จากที่เราส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เมืองไทยมาแชร์ให้ทุกคนอ่านกันค่ะ เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการลดหย่อนภาษีที่เยอรมันกันค่ะ
เอกสารมีอะไรบ้าง
1.กรอกแบบฟอร์ม
เรากรอกทั้งภาษาไทยและภาษาเยอรมันในฟอร์มเดียวกันเลยค่ะ (แบบฟอร์มชื่อว่า Unterhalterklärung für das Kalendar 20__) คลิ๊กตรงนี้เพื่อดาวน์โหลดฟอร์ม
เราต้องให้พ่อแม่กรอกแบบฟอร์ม (หรือเราจะกรอกให้ก็ได้และให้พ่อแม่แค่เซ็นอย่างเดียวแบบนี้ก็ได้ค่ะ) จากนั้นก็ให้ทางอำเภอประทับตรารับรอ แล้วเซ็น หรืออาจจะเป็นปลัดอำเภอ หรือ นายก อ.บ.ต ก็ได้ค่ะ (ในกรณีเราเอาไปให้นายก อ.บ.ต เซ็นให้ เพราะใกล้บ้านและสะดวกกว่าค่ะ)
2. หลักฐานการโอนเงินและรับเงิน
ปกติเราจะโอนเงินให้พ่อแม่ทุกเดือน โดยโอนทางแอป Wise ซึ่งเป็นแอปโอนเงินที่เราใช้ประจำ แล้วก็เข้าไปในแอปเพื่อโหลด หรือปริ๊นเป็นไฟท์ PDF ค่ะ
****สำคัญสุดควรมี ชื่อผู้โอนคือชื่อเราและชื่อผู้รับคือพ่อแม่เรานะคะ
อ่านเรื่อง การส่งเงินกลับไทยด้วยแอป Wise สะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า !!
3. หนังสือรับรองของพ่อกับแม่ได้รับเงินคนชรา
เอกสารใบนี้ต้องไปขอที่ว่าการอำเภอค่ะ (จากนั้นก็เอามาแปลเป็นภาษาเยอรมัน)
4. เอกสารแสดงความสัมพันธ์
4.1 ทะเบียนสมรสของพ่อแม่เรา (พ่อปัจจุบันเป็นพ่อเลี้ยงค่ะ ก็เอามาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันค่ะ) เอาไปแปลเป็นเยอรมัน
4.2 ใบคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อเราอยู่ แปลเป็นเยอรมัน
***เราเอาเอกสารไปแปลที่สถาบันเกอเธ่ค่ะ ใบละ 1,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ( ราคาในตอนนั้นนะคะ )
เอกสารทั้งหมดนี้เราใช้แค่ในปีแรกนะคะ พอปีต่อๆมายื่นอีก เราก็ใช้เอกสารแค่ข้อ 1 และข้อ 2 ค่ะ (ส่วนข้อ 3 และ 4 ไม่ต้องแล้ว เพราะทางการที่เยอรมันมีข้อมูลเก่าเราอยู่แล้วค่ะ )
ปล . เราทำเอกสารแยกกันพ่อกับแม่นะคะ คือพ่อก็กรอกฟอร์มหนึ่ง แม่ก็กรอกอีกฟอร์มหนึ่ง เพราะเราต้องการทำการลดหย่อนของทั้งคู่ค่ะ และการส่งเงินควรเริ่มส่ง “ต้นเดือนมกราคม” ของทุกปีนะคะ หลังจากนั้นจะส่งเดือนไหนก็ได้ค่ะ
จะว่าไปก็ไม่ยุ่งยากนะ ปีแรกๆเอกสารอาจหลายอย่างหน่อย พอปีต่อๆมาก็ง่ายแล้วค่ะ ใครอยากช่วยลดหย่อนภาษีให้สามี ก็ลองไปทำดูนะ ลดได้เยอะเหมือนกัน เพราะพวกเราเองก็ทำทุกปีค่ะ 🙂